ประเด็นร้อน

สอบ 'เคพีเอ็มจี' เอี่ยวสินบน

โดย ACT โพสเมื่อ May 08,2017

 โพสต์ทูเดย์ - อังกฤษสอบ 1 ใน 4 บริษัทบัญชีใหญ่ระดับโลก กรณีตรวจบัญชีให้โรลส์-รอยซ์ หลังมหากาพย์กรณีสินบน 7 ชาติ

          
คณะกรรมการตรวจสอบรายงานทางการเงิน (เอฟอาร์ซี) องค์กรอิสระสำหรับการกำกับดูแลบรรษัทภิบาลของสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ เปิดการสอบสวนเคพีเอ็มจี 1 ใน 4 บริษัทตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้กับโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอังกฤษ ในกรณีติดสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ 6 ชาติ และไทย
          
การตรวจสอบดังกล่าวเกิดขึ้น ตามหลังโรลส์-รอยซ์ จ่ายค่ายอมความรวม 671 ล้านปอนด์ (ราว 3 หมื่นล้านบาท) ให้แก่ สำนักงานปราบปราม การทุจริตของอังกฤษ (เอสเอฟโอ) กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และรัฐบาลบราซิล จากกรณีการขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินในต่างประเทศ ผ่านนายหน้าคนกลางจนนำไปสู่การติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อช่วยเปิดทางให้มีการขายเครื่องยนต์ดังกล่าว
          
หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า โรลส์-รอยซ์ยอมรับข้อกล่าวหาต่างๆ ก่อนหน้านี้ รวมถึงกรณีตบแต่งบัญชีเพื่อปกปิดการกระทำผิดของนายหน้าคนกลางดังกล่าว โดยทางการประเมินว่า โรลส์-รอยซ์ทำรายได้จากการกระทำผิดได้มากถึง 250 ล้านปอนด์ (ราว 1.1 หมื่นล้านบาท) ด้าน เคพีเอ็มจี เปิดเผยว่า จะให้ความร่วมมือกับการสอบสวนของเอฟอาร์ซีอย่างเต็มที่
          
"พวกเรามั่นใจในคุณภาพต่อการตรวจสอบบัญชีที่เราทำให้กับโรลส์- รอยซ์ รวมถึงในช่วงปี 2010-2013 ที่เอฟอาร์ซีจะเข้าตรวจสอบด้วย" เคพีเอ็มจี กล่าวในแถลงการณ์
          
ขณะเดียวกัน โฆษกของเคพีเอ็มจี ชี้แจงว่า เคพีเอ็มจีจะไม่ได้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้กับโรลส์-รอยซ์อีกต่อไป ในปีนี้ หลังจากเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี ให้เป็นเวลา 26 ปี นับตั้งแต่ปี 1990 โดยในกฎใหม่ของเอฟอาร์ซีกำหนดให้เอกชนต้องเปลี่ยนผู้ตรวจสอบบัญชีทุก 10 ปี
          
ทั้งนี้ ไฟแนนเชียลไทมส์ ระบุว่า เอฟอาร์ซีสั่งปรับบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ของโลกยักษ์ใหญ่ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ เคพีเอ็มจี ไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส ดีลอยต์ และเอินส์ทแอนด์ยัง รวม 6.5 ล้านปอนด์ (ราว 292 ล้านบาท) โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เอฟอาร์ซีได้เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระในการตรวจสอบการปกปิดบัญชีของเอกชน
          
ขณะเดียวกัน บรรดานักลงทุนต่างวิพากษ์วิจารณ์ความโปร่งใสในการทำบัญชีของโรลส์-รอยซ์มาโดยตลอด โดยโรลส์-รอยซ์ได้นำรายได้จากการทำสัญญาเป็นผู้ดูแลเครื่องยนต์ให้กับสายการบินระยะยาวลงในบัญชีรวมกับรายได้จากการขายเครื่องยนต์เครื่องบินที่ขาดทุน แต่ภายใต้กฎหมายใหม่ ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2018 กำหนดให้ โรลส์-รอยซ์ไม่สามารถนำรายได้จากสัญญาระยะยาวเข้ามาร่วมได้
          
ในปี 2016 ที่ผ่านมา โรลส์- รอยซ์ขาดทุนก่อนหักภาษีมากถึง 4,600 ล้านปอนด์ (ราว 2 แสนล้านบาท) จากค่าเงินปอนด์อ่อนค่าอย่างแรงเทียบเหรียญสหรัฐหลังการทำประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) โดยบริษัทอังกฤษส่วนใหญ่ต่างเลี่ยงความเสี่ยง ที่ค่าเงินเหรียญสหรัฐจะอ่อนค่า ด้วย การเก็บเงินค่าผลิตภัณฑ์และบริการเป็นค่าเงินปอนด์

- - สำนักข่าว โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 พฤษภาคม 2560- - 
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : www.posttoday.com/world/news/493739